เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นางชญากุล ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร่วมพิธีการมอบใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ แก่สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดสรรโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายชนก มากพันธุ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  ให้เกียรติเป็นผู้มอบใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัลแก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย หมู่ที่ 1 ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ห้องประชุมเมืองราด ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ( อาคาร 2 )  อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์

          กระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ เป็นผู้ที่มีคุณความดี มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์สู่สังคมโดยเป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ด้านการรักษาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศให้บรรลุผลสัมฤทธิ์

          โดยกระบวนการสรรหา จะดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดผ่านกระบวนการสรรหา ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต เพื่อสรรหาผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมให้ได้รับแต่งตั้ง เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของทุก ๆ ปี สำหรับในปี พ.ศ. 2567 นี้ งานพระราชพิธีแรกนาขวัญฯ ในวันพืชมงคล พ.ศ. 2567 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2567 / วันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนหก(6) ปีมะโรง

          จังหวัดเพชรบูรณ์ มี “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย” หมู่ที่ 1 ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ประเภท สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขา กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย เกิดจากการรวมกลุ่มของสตรีในภาคการเกษตร ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าและเสื่อกกที่ใช้สีย้อมจากธรรมชาติ โดยดำเนินกิจกรรมตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับแนวคิด BCG Model และ นโยบายตลาดนำการผลิต สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน

          ผ้าทอของกลุ่มมีความเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากมีการออกแบบลวดลายที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตชุมชน โดยจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรม จำนวน 10 ลาย ต่อยอดภูมิปัญญาพัฒนาการทอผ้าจากเดิมแบบ 2 ตะกรอ เป็น 4 ตะกรอ ด้วยเทคนิคการคัดลายทำให้ได้ลวดลายที่มีมิติคมชัด สวยงามและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back To Top